สพฐ. เสนอเพิ่มเงินอาหารกลางวันนักเรียน 3-16 บาท

276

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 62 ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานวิเคราะห์การบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศว่า ที่ประชุมได้หารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กและใหญ่ ตามข้อสั่งการของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ที่มีความเป็นห่วงเรื่องการบริหารจัดการอาหารกลางวันของเด็กต้องมีคุณภาพและถูกต้องตามหลักโภชนาการ ซึ่งในการบริหารจัดการอาหารกลางวันที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า การบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันมีปัญหาหลายส่วน โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันที่ได้รับในอัตราหัวละ 20 บาทต่อวัน จำนวน 200 วัน ที่ถือว่ายังไม่ได้มีการพิจารณาปรับปรุงมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นที่ประชุมจึงได้มีการวิเคราะห์งบอาหารกลางวันที่ได้รับตามอัตรารายหัวว่าแต่ละวันเด็กควรจะได้รับการอุดหนุนในอัตราหัวละจำนวนเท่าไร โดยได้มีการวิเคราะห์จากค่าแรงแม่ครัว ค่าวัสดุประกอบอาหาร ค่าแก๊ส และตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันจากนั้นนำมาหารด้วยจำนวนนักเรียนจึงได้ประมวลออกมาเป็นอัตราเงินอุดหนุนรายหัวค่าอาหารกลางวันเด็ก แบ่งเป็น โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียน 1-20 คน เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 36 บาท  โรงเรียนขนาดกลางที่มีนักเรียนจำนวน 43-50 คนปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 27 บาท และโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนนักเรียน 200 คนขึ้นไปปรับขึ้นจากเดิม 20 บาทเป็น 23 บาท ทั้งนี้ตัวเลขที่ปรับขึ้นยังไม่ถือเป็นข้อสรุปแต่เป็นเพียงการวิเคราะห์จากสพฐ.เท่านั้น เพราะต้องนำข้อมูลเหล่านี้ไปให้สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พิจารณาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้อีกครั้ง ต่อจากนั้นจะเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ นำข้อมูลดังกล่าวเสนอรัฐบาลเพื่อนำประกอบการพิจารณาค่าอาหารกลางวันของนักเรียนต่อไป ด้าน ผศ.ดร.กิตติ สรณเจริญพงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่การแก้ปัญหาระยะยาวอยากเสนอให้สพฐ.จัดให้มีครูโภชนาการประจำโรงเรียนเพื่อดูแลเรื่องอาหารของนักเรียนโดยเฉพาะ เพราะการมีครูเฉพาะทางนอกจากช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วนแล้วยังเป็นการป้องกันปัญหาการทุจริตเงินอาหารกลางวันได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากมีผู้รับผิดชอบโดยตรง

Facebook Comments
Source เดลินิวส์ ออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

You cannot copy content of this page