จากการที่ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ นายไกรทอง กล้าแข็ง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ไกรทอง กล้าแข็ง โดยมีการระบุข้อความไว้ว่า เรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ขอให้ยกเลิก Logbook เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 เวลา 12.02 นาฬิกานั้น ทางเว็บไซต์ ครูหน่องออนไลน์ ได้สอบถามไปยังเจ้าตัว โดยประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ นายไกรทอง กล้าแข็ง ได้ให้สัมภาษณ์ว่า“ เรื่องที่ผมโพสต์นั้น เป็นปัญหาของครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาซึ่งส่งผลกระทบต่อส่วนได้เสียของคนในชาติ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของส่วนรวมและประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะว่าผมได้รับข้อมูลและได้รับทราบจากคุณครูสังกัดกระทรวงศึกษาธิการว่า ท่านมีความลำบากเดือดร้อนกันมากในเรื่องของการกรอกข้อมูลลงใน Logbook เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.3/ว 21 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560
แต่เมื่อคุณครูได้ดำเนินการไปแล้ว พบว่ามีความยุ่งยาก จนนำไปสู่การสะท้อนว่าเป็นการสร้างภาระที่ไปกระทบต่องานสอน ซึ่งครูควรมีเวลาไปออกแบบหรือวางแผนวิธีการสอน หรือการสร้างนวัตกรรม เตรียมหรือผลิตสื่อ เตรียมการสอน ลงมือทุ่มเทให้กับการสอน ตรวจสอบงานของนักเรียน เมื่อพบปัญหาจึงวางแผนแนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนานักเรียน
ตรงกันข้าม ที่พบคือ กลับต้องไปคอยกรอกข้อมูล Logbook ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ เมื่อกรอกเสร็จแล้ว ต้องมีการส่งเอกสารไปที่เขตอีก ซึ่งงานเอกสารยังมีอยู่จำนวนมากเหมือนเดิม สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือการต้องเตรียมข้อมูลและนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อกรอกบันทึกข้อมูลใน Logbook โดยที่ไม่ได้ช่วยลดภาระงานของครูแต่อย่างใด แต่เป็นการแยกธรรมชาติของงานที่ต้องอยู่กับนักเรียนเพื่อแก้ไขและพัฒนานักเรียน อันมีหลักฐานปรากฏอยู่ในแผนการสอนอยู่แล้ว และวงจรคุณภาพการเรียนการสอนนี้ ก็ปรากฏอยู่ในการนิเทศติดตามของผู้บริหารโรงเรียนและหรือฝ่ายวิชาการโรงเรียน หรือการประกันคุณภาพภายในที่มีมาตรฐานและตัวบ่งชี้หรือตัวชี้วัดต่าง ๆ อยู่แล้ว (SAR) สิ่งที่สะท้อนคุณภาพจึงไม่ได้อยู่ที่ร่องรอยจากการบันทึกข้อมูลลงใน Logbook แต่คุณภาพคือความเข้มแข็งในระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาว่าได้ทำกันจริง ส่วนการประเมินวิทยฐานะหากเป็นไปได้ควรใช้หลักเกณฑ์เดิมคือ ว 17/2552 เพียงแค่เน้นนวัตกรรมหรือผลงานทางวิชาการของครูที่นำไปใช้กับนักเรียนว่าใช้ได้จริงหรือไม่เพียงใด หรือหากกระทรวงศึกษาฯ ไม่ใช้หลักเกณฑ์เดิมแต่อาจเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ก็ควรมาจากการพัฒนาขึ้นจากหลักเกณฑ์เดิม ไม่กระโดดข้ามมากหรือทำให้เกิดความเหลื่อมกันมากไปจากเดิม
แต่ในปัจจุบันหลักเกณฑ์ตาม ว 21 กลับไปเพิ่มภาระงานที่คุณครูท่านสะท้อนจากสภาพจริงแล้วว่า เป็นรูปแบบการทำงานที่แยกงานออกจากงานสอน เสมือนไม่ได้บ่งชี้ว่าการบันทึก Logbook นั้น ได้เป็นร่องรอยของคุณภาพได้จริง
อีกประการหนึ่งก็คือ PLC ซึ่ง PLC นี้ ท่านศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ประธานมนตรีปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ “สามัคคีประชาชน” ของสถานีโทรทัศน์สยามไทยอัพเดต ที่ผมได้ไปร่วมในรายการด้วย เพื่อการนำเสนอเอกสารการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชนผ่านรายการโทรทัศน์ และท่านยังได้แสดงข้อความในกลุ่มไลน์สนามปฏิรูป โดยสรุปได้ว่า นักวิชาการบ้านเราชอบเอาของนอกมาใช้ ชอบเห่อตามฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็น Storyline, Backward Design, Flipped Classroom, BBL, STEM, หรือแม้แต่ PLC สิ่งเหล่านี้เป็นหวัดวิชาการ เหมือนกับว่าฝรั่งแพร่หวัดอะไรมา นักวิชาการไทยก็ขาดภูมิคุ้มกันและรับเชื้อหวัดมาอย่างง่ายได้ เหมือนไฟไหม้ฟาง ตรงนี้เองเมื่อมองย้อนหลังจึงทำให้เห็นว่าเป็นไปตามที่ท่านกล่าวจริง ๆ
ดังนั้น ผมเห็นว่ายังมีเวลาที่จะยกเลิกการใช้ Logbook ได้ทัน หากเห็นถูกต้องว่าเป็นการเพิ่มภาระงานที่ลดคุณภาพการสอนลง โดยก่อนการประกาศใช้หลักเกณฑ์ตาม ว 21 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ซึ่งมีคุณครูของกระทรวงศึกษาฯ ไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน และมีท่านที่ปรึกษารัฐมนตรีเป็นผู้รับหนังสือในครั้งนั้น (ต้องขอขอบคุณท่านเป็นอย่างมากมา ณ ที่นี้) เพื่อขอให้พิจารณาในร่างหลักเกณฑ์ที่จะประกาศใช้และหรือขอให้เกิดการเยียวยาผู้ที่จะกระทบจากการที่จะประกาศใช้หลักเกณฑ์ตาม ว 21 จนนำมาสู่การมีเงื่อนไขและกรอบระยะเวลาตามที่ ก.ค.ศ.ได้กำหนดมาแล้วนั้น ช่วงนั้นอยู่ในระหว่างกระบวนการจัดทำคำสั่งทางปกครอง ผมเองเป็นผู้ที่ร่วมดำเนินการและร่วมให้กำลังใจอยู่ฟากหลัง เพราะได้รับการติดต่อจากคุณครูกระทรวงศึกษาฯ ท่านหนึ่ง ให้ช่วยร่วมดูแลอยู่ห่าง ๆ ในเรื่องนี้ และในขณะปัจจุบันการประกาศใช้หลักเกณฑ์ของ ว 21 เมื่อใช้แล้วมีเสียงสะท้อนว่าวัดคุณภาพได้จริงหรือไม่ หรือว่าเป็นการสร้างภาระงานที่เพิ่มขึ้นมาโดยที่ครูไม่มีเวลาสอนอย่างเต็มที่หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นคูปองครู PLC หรือแม้แต่ Logbook จึงเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจโดย ก.ค.ศ.ที่มีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน อาจควรต้องยกเลิกหลักเกณฑ์ของ ว 21 ทั้งหมดด้วยซ้ำไปหรือไม่ ”
ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ กล่าว
สำหรับเรื่องนี้ก็คงต้องคอยดูกันต่อไปครับว่า บทความนี้จะสะท้อนไปถึงท่าน รมว.ศธ. ได้จริงๆ ตามที่คุณครูทุกท่านคาดหวังไว้หรือไม่ ?? เราต้องช่วยกันแชร์คนละโพสต์ครับ เพื่อบทความนี้จะได้เป็นบทสะท้อน จากครูไทยส่งไปถึง รมว.ศธ. ให้เร็วที่สุด
ที่มาบทความโดย : นายไกรทอง กล้าแข็ง ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์
เรียบเรียงบทความโดย : นายไกรทอง กล้าแข็ง ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ / เพจ ครูหน่องออนไลน์