“ระเบียบวินัย” เริ่มที่ไหน เมื่อครูเชิญทหารฝึกเด็ก

457

เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลังปรากฏภาพโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร ฝ่ายประถม จัดปฐมนิเทศนักเรียนชั้น ป.3-ป.4 จำปีการศึกษา 2560 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้นำทหาร พัน.ร.มทบ.11 มาฝึกท่าบุคคลพื้นฐานเบื้องต้น เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกของการมีระเบียบวินัยให้กับนักเรียนก่อนเปิดภาคเรียน

ประเด็นนี้ มีทั้งผู้ที่วิจารณ์ว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ และเป็นกิจกรรมปกติที่โรงเรียนสาธิต มศว ทำมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่เห็นว่าไม่เหมาะที่จะนำทหารมาฝึกระเบียบวินัยให้กับนักเรียน โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้

นายสมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว ชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า นายนพดล กองศิลป์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายประถม ได้รายงานให้ตนทราบแล้ว นายนพดลแจ้งว่าก่อนดำเนินการได้ส่งหนังสือแจ้งผู้ปกครองว่าทางโรงเรียนจะจัดกิจกรรมดังกล่าว และผู้ปกครองเป็นคนติดต่อทหารให้เข้ามาสอนเด็กเอง ซึ่งการจัดกิจกรรมเป็นไปอย่างสนุกสนาน เพราะมีดารานักร้องอย่างพลทหารชินวุฒิ อินทรคูสิน มาร่วมกิจกรรมด้วย ทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน

“อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายประถม ได้จัดการเรียนการสอนโดยนำบุคคลจากอาชีพต่างๆ ทั้งทหาร ตำรวจ หมอ พยาบาล ฯลฯ มาสอนถึงการทำงาน ให้เด็กรู้จักว่าแต่ละอาชีพเป็นอย่างไร เพื่อให้เลือกอาชีพที่อยากเป็นในอนาคตไว้ แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ให้ทหารมาฝึกสอนนอกเวลาเรียนในการปฐมนิเทศ เป้าหมายเพื่อฝึกให้เด็กได้รู้จักระเบียบวินัยในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา เพราะเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งเท่านั้น และได้แจ้งให้ผู้ปกครองทุกคนรับทราบล่วงหน้า เท่าที่ดูกิจกรรมก็ไม่ได้ฝึกอะไรมาก แค่ให้เด็กฝึกเข้าแถว ซ้ายหัน ขวาหัน เพื่อความมีระเบียบวินัย ไม่มีเนื้อหาอื่นรวมอยู่เลย และตอนฝึกก็มีครูประจำชั้นควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด” นายสมชายกล่าว

ลองฟังความคิดเห็นจากผู้บริหาร และนักวิชาการกันบ้าง เริ่มจากนางนาตยา อดิศัยนิกร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสายะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า ภาพที่ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ซึ่งกระแสสังคมมองว่าอาจจะหนักเกินไปสำหรับเด็กนั้น ส่วนตัวมองว่าบางครั้งกระแสสังคม หรือนักวิชาการอาจมองสุดโต่ง หรือคิดมากเกินไป เพราะก่อนที่จะนำทหารมาช่วยฝึกระเบียบวินัยให้กับเด็กนั้น เชื่อว่าต้องผ่านกระบวนการคิดวางแผน หลักการ แนวทาง และกิจกรรม ร่วมกันระหว่างทหาร และโรงเรียนก่อน ซึ่งทุกโรงเรียนก็เป็นแบบนั้น ฉะนั้น ควรสอบถามนักเรียนที่เป็นฝ่ายถูกฝึกมากกว่าว่ารู้สึกอย่างไร พอใจหรือไม่ ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ถ้าเป็นกิจกรรมในช่วงสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมง ก็ไม่น่าจะปลูกฝังแนวคิดเผด็จการ ปลุกปั่น หรือล้างสมองเด็กอย่างที่นักวิชาการบางคนหวั่นได้ ถ้าการปลูกฝังระบบเผด็จการทำได้ง่ายภายในไม่กี่ชั่วโมง เด็กน่าจะมีพื้นฐานซึ่งอาจเกิดจากการเลี้ยงดูของครอบครัวมาก่อนก็ได้ ฉะนั้น ส่วนตัวจึงไม่เห็นว่าการดึงทหารมาช่วยฝึกระเบียบวินัยไม่ดี ตรงกันข้ามเด็กอาจตื่นเต้น กระตือรือร้น และสนุกมากขึ้น

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิเสรีภาพของโรงเรียน แต่ต้องดูความเหมาะสม เพราะโรงเรียนสาธิตถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนเพื่อฝึกสอนครู มีลักษณะเฉพาะ สามารถนำทฤษฎี และนวัตกรรมมาใช้ในการเรียนการสอนได้ ซึ่งเป็นข้อดี ทำให้โรงเรียนพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้รวดเร็ว ส่วนการนำทหารมาฝึกระเบียบวินัยให้เด็ก ซึ่งผู้ปกครองรับทราบ และเด็กเองก็รู้สึกสนุกนั้น ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะเรื่องหลักสูตรแฝง ที่ด้านหนึ่งอาจทำให้เด็กมีระเบียบวินัย แต่อีกด้านจะปลูกฝังความคิดเด็กในระยะยาว ให้มีความคิดแบบทหาร ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่นิสัยทหารจะมีความเผด็จการ คือเอาความคิดของตัวเองเป็นหลัก มีระเบียบวินัยแบบแผนมาก ซึ่งเป็นเรื่องดีถ้าเด็กนำไปใช้ในทางที่ถูกต้อง แต่คุณลักษณะของนักเรียนสาธิต จะถูกฝึกให้มีวินัยที่เกิดขึ้นจากภายในด้วยตัวเด็กเอง การนำทหารมาฝึกระเบียบเหมือนเป็นการฝึกวินัยจากภายนอก ซึ่งอาจไม่ใช่แนวทางของโรงเรียนสาธิต ต้องระวัง

ขณะที่ นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา กล่าวว่า เชื่อว่าทหารคงไม่ล้างสมองเด็ก และก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่อยากให้ชัดเจนคือกำหนดหลักสูตรการฝึกให้ชัด ตั้งแต่ระยะเวลา จุดมุ่งหมาย กิจกรรม สื่อ และการวัดและประเมินผล ทำให้เป็นระบบ หลักสูตรที่จะนำไปฝึกต้องผ่านการทดลองว่าเหมาะสม ครูฝึกต้องผ่านการเทรนวิธีการสอน จิตวิทยา การวัดและประเมินผล ทำเสร็จแล้วนำไปขยายผล ช่วยโรงเรียนที่ต้องการ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กตามชนบทที่ขาดแคลนครู ให้จัดหลักสูตร และทหารเข้าไปช่วยเลย

“เรื่องนี้ถ้าในสถานการณ์ปกติ คงไม่มีใครว่า แต่ที่เป็นปัญหาเพราะเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยทางการเมืองที่มีการยึดอำนาจจากรัฐบาลทหาร และรัฐบาลทหารบริหารงานผิดพลาด ไม่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจได้ และยังมีกรณี 4 คำถามของนายกรัฐมนตรี ทำให้สังคมระแวงทหาร ระแวงว่าจะเข้าไปปลุกปั่นล้างสมองเด็ก” นายอดิศรกล่าว

น.ส.สุนทรี ศิริอังกูร ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต มรภ.นครราชสีมา กล่าวว่า การฝึกของทหารหนักเกินไปสำหรับเด็กวัยนี้ โรงเรียนตนจึงเลือกวิธีอื่นที่เบากว่า เรามีกิจกรรมลูกเสือ นักเรียนต้องแต่งเครื่องแบบลูกเสือ ฝึกเข้าแถว ฝึกระเบียบวินัยต่างๆ โดยครู และผู้ทรงคุณวุฒิที่เก่งๆ มาช่วยกันฝึกระเบียบวินัย ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ผลดีด้วย แต่ถ้าโรงเรียนอื่นจะใช้ทหารเข้ามาช่วยฝึก เพราะมองว่าดารานักร้องอย่างอดีตพลทหาร ชินวุฒิ อินทรคูสิน จะช่วยเป็นไอดอลให้กับเด็กได้อย่างดีนั้น ก็เป็นดุลพินิจของแต่ละโรงเรียน เพราะโรงเรียนอาจอยู่ใกล้พื้นที่ค่ายทหาร หรือมองว่าดารานักร้องเป็นไอดอลให้กับเด็ก ก็ถือเป็นความคิดที่ไม่เลว

ปิดท้ายที่ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อดีตอธิการบดี มศว กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะการสร้างคุณลักษณะ ปลูกฝังความคิด หรือความมีวินัยที่ดีให้เด็ก จำเป็นต้องมาจากหลากหลายวิธี และมีกระบวนการที่ต่อเนื่อง ซึ่งผู้สอนอาจเป็นครูประจำชั้น ครูพละ หรือทหารก็ได้

ตรงนี้ไม่สำคัญว่าใครจะเป็นผู้สอน แต่สำคัญที่กระบวนการ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก หากกระบวนการที่ผู้สอนทำแล้วประสบความสำเร็จ ปลูกฝังความมีระเบียบวินัยให้เด็กได้ ตรงนั้นถือว่าโรงเรียนประสบความสำเร็จ ที่สำคัญ ไม่อยากให้นำเรื่อง “การศึกษา” ของคนในชาติ ไปยุ่งกับ “การเมือง” อยากให้มอง “ผลลัพธ์” ที่โรงเรียนทำมากกว่า!!

นั่นคือทรรศนะจากบรรดาครูบาอาจารย์

วงการศึกษา นักการศึกษาน่าจะต้องปรึกษาหารือในประเด็นนี้กันต่อไป โดยเฉพาะคำว่า “วินัย” สำหรับเด็ก เยาวชน ควรเริ่มต้นจากตรงไหน จึงจะเกิดผลดีอย่างแท้จริง

Facebook Comments
Source มติชนออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

You cannot copy content of this page