วันนี้(30 เม.ย.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ. ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการพิจารณา ร่าง พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… ว่า ขณะนี้ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว รอเพียงรัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯเท่านั้น โดยกฎหมายฉบับนี้เมื่อประกาศใช้จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะจะทำให้เกิดคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ที่จะดูแลการศึกษาในภาพรวมทั้งประเทศ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)จะปรับบทบาทหน้าที่ไปเป็นสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ โดยขณะนี้ สกศ.อยู่ระหว่างพิจารณาปรับโครงสร้างภายในเพื่อรองรับบทบาทใหม่ ที่จะต้องมีความคล่องตัวและมีความเข้มแข็งในเรื่องระบบข้อมูลเพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายการศึกษาที่เหมาะสม รวมถึงจะต้องมีการปรับแผนการศึกษาแห่งชาติให้สอดรับกับ พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ร่าง พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่นี้ได้มีการทบทวนหรือปรับข้อกังวลของกลุ่มครู และบุคลากรทางการศึกษาที่ได้ทักท้วงหรือไม่ ศ.นพ.จรัส กล่าวว่า ไม่ได้มีการปรับ เพราะหลายเรื่องได้ถูกปรับไปจากสิ่งที่กอปศ.เสนอไปแล้ว แต่ยังคงหลักการและความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษา ให้ความสำคัญและคืนศรัทธา รวมถึงยกย่องครูอย่างแท้จริง ไม่ใช่ครูเป็นลูกน้องผู้บริหาร เป็นการเปลี่ยนจากระบบบริหารไปเป็นผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ โรงเรียน ไม่ใช่ระบบบริหาร ที่เหมือนกับการบริหารธุรกิจ แต่ต้องเป็นเรื่องของความรับผิดชอบโรงเรียน ที่สิ่งสำคัญที่สุด คือ คุณภาพของนักเรียน ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นสอดคล้องกับ กอปศ. ว่า ต้องใช้คำว่า ครูใหญ่ ที่มีความหมายใหญ่มากกว่า ผู้อำนวยการโรงเรียน และมีความสำคัญจริงต่อประสิทธิผลทางการเรียนของเด็ก
“ต้องถือว่ารัฐบาลนี้มีความกล้าหาญมาก ที่จะปฏิรูปการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ เพราะมีเสียงคัดค้าน แต่ก็ผ่านมาได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ออกมาค้านกันก็เป็นการค้านในสิ่งสมมติ แต่สิ่งที่กอปศ.เสนอและทำ คือ ของจริง เพราะกฎหมายนี้เปลี่ยนวิธีคิด หลักคิด ค่านิยม ว่า การศึกษาไม่ใช่ดีขึ้นเพราะการบริหาร แต่การศึกษาดีขึ้นด้วยครู” ประธาน กอปศ.กล่าว