ตัวแทนครู ร้อง นายกฯ ให้ช่วยลดดอกเบี้ย ช.พ.ค. !!

1,469

นายไกรทอง กล้าแข็ง ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ ประธานขับเคลื่อนการลดดอกเบี้ย ช.พ.ค. ที่ได้รับเรื่องร้องขอจากสมาชิกโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ว่าขอให้ช่วยดำเนินการขอลดดอกเบี้ยเงินกู้โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. ได้เปิดเผยกับเว็บไชต์ข่าว krunhongonline ว่า

“เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ตนได้ทำหนังสือสอบถาม ผลการแก้ไขปัญหาไปยังเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.โดยก่อนหน้าได้เข้ายื่นหนังสือที่จุดบริการประชาชน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 กราบเรียนนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้ดำเนินนโยบายลดดอกเบี้ยเงินกู้ในโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.ลงครึ่งหนึ่ง ตั้งแต่โครงการที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2548 จนถึงโครงการ ณ ปีปัจจุบัน โดยธนาคารออมสิน MLR 6.25 – 7.25 ต่อปี ปรับลดให้คงเหลือ MLR 3.25 – 3.50% รวมทั้งธนาคารอื่นที่ร่วมโครงการ และการลดดอกเบี้ยนั้น ขอให้มีผลครอบคลุมทุกตัวแปร โดยไม่จำกัดด้านอายุ วงเงินกู้ ระยะเวลาของสัญญา และความสามารถในการจ่าย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะหนี้วิกฤต ถูกฟ้อง หรือกำลังจะถูกฟ้องหรือไม่ก็ตาม ซึ่งในวันเดียวกันที่ยื่นหนังสือนั้น ทางสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีก็ได้ประสานเรื่องให้ทางกระทรวงศึกษาธิการในทันทีโดยไม่รอช้าอีกทั้งได้ทำการสรุปผลการรับเรื่องร้องทุกข์กราบเรียนนายกรัฐมนตรีในวันเดียวกันด้วย

ต่อมาในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ดำเนินการส่งเรื่องให้ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.) พิจารณาดำเนินการ และเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ผู้ปฏิบัติการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อร้องเรียนลดดอกเบี้ยเงินกู้โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.โดยมีสาระสำคัญระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินในการจัดโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. โครงการที่ 1 ร่วมกับธนาคารกรุงไทย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ MLR ต่อปี โครงการที่ 2 ถึงโครงการที่ 7 ร่วมกับธนาคารออมสิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประกอบด้วยโครงการที่ 2 ถึงโครงการที่ 5 ร้อยละ MLR ต่อปี โครงการที่ 6 ร้อยละ MLR – 0.50 ต่อปี และโครงการที่ 7 ร้อยละ MLR – 0.85 ต่อปี

ซึ่งสถาบันการเงินดังกล่าวได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำให้กับโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ทราบดีถึงความเดือดร้อนของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องแบกภาระเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ จึงขอนำปัญหาหาเพื่อหารือสถาบันการเงินต่อไป หลังจากที่ทางสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ได้ชี้แจ้งข้อร้องเรียนมาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน ตนก็ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.ว่า ได้มีผลการแก้ไขปัญหาตามที่ได้ร้องขอลดดอกเบี้ยโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่ง ณ ขณะนี้ ยังต้องรอทางสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.แจ้งผลกลับมา โดยตนทราบว่า มีคำสั่งมอบหมายให้มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.คนใหม่ เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา ก็หวังว่าท่านจะมารับเรื่อง สานต่อในทางที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกผู้ร่วมโครงการสวัสดิการเงินกู้ดังกล่าว

โดยการขอให้ลดดอกเบี้ยลงเนื่องจาก ณ ขณะปัจจุบันสมาชิกผู้ร่วมร่วมโครงการสวัสดิการเงินกู้หรือผู้กู้ มีความเดือดร้อนจากค่าใช้จ่ายกันมากและมีค่าใช้จ่ายหลายทาง ซึ่งในขณะที่กู้ก็ทราบเงื่อนไขในอัตราดอกเบี้ย เพียงแต่ว่าให้ช่วยลดดอกเบี้ยลง เพราะอะไรหลาย ๆ อย่างก็เปลี่ยนแปลงไป ถ้าลดดอกเบี่ยลงได้ ก็จะทำให้มีสภาพการใช้จ่ายคล่องตัวมากขึ้น ไม่เป็นผู้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่ถูกฟ้องและออกจากงาน พอที่จะดำรงตนอยู่ได้ และที่ผ่านมาผู้กู้ก็มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างฐานะของตนให้มีความมั่นคง ไม่ว่าจะกู้ไปเพื่อใช้ในการต่อยอดรายได้ กู้ไปเพื่อชำระหนี้สินที่มีอยู่แล้วก่อนดำรงตำแหน่งครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือแม้แต่กู้ไปเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่ก็อยู่ในทางฐานะวิสัยที่จะต้องมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งที่ผ่านมามักจะได้รับการกล่าวหาจากสังคมว่า ครูไม่มีความพอเพียง ฟุ้งเฟ้อ ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่มีวินัยทางการเงิน ตนก็ขอเป็นผู้แทนครูชี้แจ้งต่อสังคมด้วยว่า เป็นเพียงข้อกล่าวหาที่ปราศจากข้อเท็จจริง เพราะว่าเมื่อไปสืบทราบวิถีชีวิตที่ครูต้องกู้มาซื้อบ้าน หากไม่มีบ้านจะให้ครอบครัวอยู่อย่างไร และกู้ไปซื้อรถ หากไม่มีรถก็อยู่ได้ เพียงแต่ต้องปั่นรถจักรยานไปสอนในโรงเรียนที่ไกล ๆ ก็แค่นั้นเอง ในส่วนของการกู้มาลงทุน หากการลงทุนขาดทุนก็ย่อมจะทำให้เป็นหนี้สินอยู่พอสมควร ไม่อยากให้มองอย่างคึกคะนองว่าครูไม่มีวินัยทางการเงิน หรือคุยสนุกปาก คุยเอามันส์ เพราะการมองที่มีข้อสันนิษฐานหรือตั้งสมมุติฐานแบบผิด ๆ ย่อมไม่ทำให้เกิดความจริงใจในการแก้ไขปัญหา หรืออาจจะนำไปสู่การวางนโยบายที่ผิดพลาด ซึ่งจะเป็นวัวพันหลัก แก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้สักที และจึงมิใช่ว่า คนที่เป็นหนี้แล้วต้องช่วยตนเองอย่างเดียว ไปกู้มาทำไมให้เป็นหนี้ ถ้าบอกแบบนั้น ถามแบบนั้น สังคมจะอยู่อย่างไร หากไม่ช่วยกันประคับประคองแก้ไข เพราะที่ผ่านมาตนเห็นเรียกร้องกันเรื่องให้แก้ไขปัญหาหนี้สิน เรียกร้องกันมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่นแล้ว มาจนถึงรุ่นยุคร่วมสมัยในส่วนที่ตนเรียกร้องอยู่ หากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาก็ย่อมแก้ไขไม่ได้ จึงอยากฝากไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้เอาใจมารับฟังก่อน อย่างเช่น มีอดีตผู้บริหารที่เกษียณอายุราชการไปนานมากแล้วในแถบจังหวัดภาคหนึ่ง ได้โทรมาหาตนว่าเดือดร้อนมากจากการเป็นลูกหนี้ อย่างนี้ เป็นต้น ถ้าผู้เกี่ยวข้องไม่ช่วย จะนิ่งดูดายหรือย่างไร เพราะฉะนั้นโครงการสวัสดิการเงินกู้นี้ ตนเห็นว่าอาจเป็นนโยบายที่ผิดพลาดหรือไม่ ซึ่งต้องรับผิดชอบร่วมกัน ตนไม่คิดว่าใครจะผลักภาระไปให้ใคร และคิดว่าผู้เกี่ยวข้องทุกท่านควรต้องร่วมกันรับผิดชอบ เพื่อให้สังคมเดินหน้าไปได้ สามารถก้าวพ้นวิกฤตไปได้ วิกฤติหนี้ก็วิกฤตชาติ จะให้ใครรวยคนเดียวได้อย่างไร ต้องแบ่งกัน และในฐานะผู้ร่วมโครงการฯ ก็เป็นลูกหนี้ชั้นดีที่ธนาคารหักดอกเบี้ยรายเดือนได้ทุกเดือน ควรจะลดดอกเบี้ยให้สมาชิกผู้ร่วมโครงการดังกล่าวลงได้ และถ้าธนาคารจะทำ ก็ย่อมจะทำได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยว่า จะเจรจากับธนาคารอย่างไร และผู้มีอำนาจในรัฐบาลชุดนี้จะเอาอย่างไร และหวังว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขในเร็ว ๆ นี้ ตนก็ขอให้กำลังใจทุกฝ่ายและขอขอบคุณทุกฝ่ายไว้ล่วงหน้า” นายไกรทอง กล้าแข็ง กล่าว

Facebook Comments

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

You cannot copy content of this page